การประจำการ ของ เรือหลวงช้าง (LST-712)

สงครามโลกครั้งที่สอง, พ.ศ. 2487–2488

หลังจากการแล่นทดสอบในรัฐฟลอริดา เรือ LST-898 ได้เดินทางไปขนสัมภาระที่นิวออร์ลีนส์และออกเดินทางเข้าร่วมสงครามเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2488 โดยแล่นผ่านคลองปานามาจนมาถึงเมืองมาจูโรเมื่อวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2488 จากนั้นเดินทางต่อไปยังเกาะไซปันเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการปฏิบัติการในยุทธการที่โอกินาวะ โดยเดินทางออกจากเกาะไซปันเมื่อวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2488 และเดินทางมาถึงเมืองชิมูวาน จังหวัดโอกินาวา และระบายพลพร้อมสัมภาระลงบริเวณฐานชิมูวาน ซึ่งเป็นเหมือนประตูสู่ตัวประเทศญี่ปุ่น ต่อจากนั้นได้แล่นกลับไปยังเกาะไซปันเพื่อลำเลียงกำลังพลและยุทโธปกรณ์ส่งกำลังบำรุงไปยังหมู่เกาะมาเรียนา ประเทศฟิลิปปินส์ และจังหวัดโอกินาวาของญี่ปุ่นตลอดช่วงเดือนที่เหลือของสงคราม

ภารกิจหลังสงคราม, พ.ศ. 2488–2489

หลังจากการยอมจำนนของญี่ปุ่นในฝั่งทะเลแปซิฟิก เรือถูกมอบหมายให้ปฏิบัติการในพื้นที่ตะวันออกไกลเพื่อขนส่งยุทโธปกรณ์ที่ถูกยึดจากฝ่ายแพ้สงครามจนถึงช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน จากนั้นได้ร่วมขนส่งสัมภาระจากการรื้อถอนฐานปฏิบัติการของกองทัพบกในประเทศฟิลิปปินส์ และปลดประจำการครั้งแรกจากกองทัพเรือในวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2489[3]

กองทัพบกและปฏิบัติการ MSTS, พ.ศ. 2489–2493

ในวันที่ 25 พฤศภาคม พ.ศ. 2489 เรือได้ถูกถ่ายโอนภารกิจไปอยู่ในความดูแลของกองทัพบกในส่วนของการขนส่งสัมภาระต่าง ๆ และถูกถ่ายโอนกลับมาประจำการในกองทัพเรืออีกครั้งในวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2493 ซึ่งสามเดือนต่อมาเรือถูกมอบหมายให้ปฏิบัติการขนส่งสัมภาระสำหรับหน่วยบริการขนส่งทางทหารทางทะเล (Military Sea Transportation Service: MSTS) ในประเทศญี่ปุ่นและเกาหลี ซึ่งขณะนั้นเกาหลีใต้ประสบกับภัยคุกคามจากลัทธิคอมมิวนิสต์และมีการร้องขอกำลังทางเรือเพิ่มเติมเพื่อเร่งกระบวนการส่งกำลังบำรุงเข้าสู่พื้นที่ขัดแย้ง[3]

สงครามเกาหลี, พ.ศ. 2493–2495

เรือ LST-898 ขณะปฏิบัติการอพยพประชาชนและนาวิกโยธินจากเมืองฮุงนัม

เรือ LST-898 กลับเข้าประจำการใหม่อีกครั้งเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2493 โดยได้บรรทุกกำลังพลและยุทโธปกรณ์จากเมืองโคเบะ ประเทศญี่ปุ่น เพื่อนำไปเตรียมปฏิบัติการในยุทธการที่อินช็อนทางตะวันตกของเกาหลีเมื่อวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2493 จากนั้นเรือได้นำกำลังพลเข้าร่วมปฏิบัติการในยุทธการเมื่อวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2493 จนกระทั่งปฏิบัติการดังกล่าวประสบความสำเร็จ จนทำให้นายพลดักลาส แมกอาเธอร์ กล่าวชื่นชมกองทัพเรือว่า "The Navy and Marines have never shone more brightly than this morning." หลังจากเรือได้ระบายกำลังพลและยุทโธปกรณ์แล้ว เรือได้ทำหน้าที่ในการลำเลียงและให้บริการการแพทย์ฉุกเฉินให้กับกำลังพลนาวิกโยธินที่ได้รับบาดเจ็บ และสนับสนุนกองกำลังบนฝั่งด้วยการระดมยิงสนับสนุนไปยังตำแหน่งของข้าศึกบนฝั่ง โดยเรือ LST-898 ได้ปฏิบัติการจนถึงช่วงกลางเดือนตุลาคม จากนั้นกองกำลังของจีนได้เข้าร่วมในสงครามดังกล่าว ทำให้เรือต้องย้ายไปปฏิบัติการส่งกำลังพลนาวิกโยธินสหรัฐในพื้นที่ทางตอนเหนือของเกาหลี ต่อมาระหว่างเดือนตุลาคมจนถึงวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2494 เรือได้เข้าร่วมในปฏิบัติการอพยพประชาชนชาวเกาหลีและกำลังนาวิกโยธินจากเมืองฮุงนัม และเมืองว็อนซัน ไปยังเมืองปูซาน[3] จากนั้นเรือได้ปฏิบัติการขนส่งยุทปัจจัยระหว่างท่าเรือของเกาหลีและญี่ปุ่น จนกระทั่งเสร็จสิ้นภารกิจและเดินทางออกจากฐานทัพเรือสหรัฐในเมืองโยโกซูกะ ประเทศญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 24 เมษายน และเดินทางถึงเมืองแซนดีเอโกเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม เพื่อเข้ารับการซ่อมบำรุงครั้งใหญ่ และเดินทางกลับไปยังฐานทัพเรือในโยโกซูกะเพื่อปฏิบัติการต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์บนคาบสมุทรเกาหลีอีกครั้งด้วยการขนส่งยุทโธปกรณ์ระหว่างประเทศญี่ปุ่นและเกาหลีตลอดระยะเวลา 6 เดือน และได้เดินทางกลับมายังเมืองแซนดิเอโกในวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2495

กองเรือแปซิฟิก, พ.ศ. 2496–2503

ในช่วงกลางปี พ.ศ. 2496 เรือ LST-898 ได้ปฏิบัติงานในการขนส่งยุทธภัณฑ์ในการก่อสร้างฐานทัพเรือบริเวณเมืองพอยต์บาร์โรว์ รัฐอะแลสกา และปฏิบัติงานอยู่บริเวณแถบอาร์กติกจนถึงช่วงเดือนกันยายน ซึ่งสองปีต่อมาเรือได้สับเปลี่ยนกำลังไปปฏิบัติการในมหาสมุทรแปซิฟิกฝั่งตะวันตกในการฝึกปฏิบัติการสะเทินน้ำสะเทินบกในพื้นที่ชายฝั่งตะวันตก

ต่อมาเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2498 เรือ LST-898 ได้รับการตั้งชื่อว่า ยูเอสเอส ลินคอล์นเคาน์ตี้ (LST-898) ซึ่งตั้งแต่ปี พ.ศ. 2498 ถึง พ.ศ. 2503 เรือได้ออกเดินทางสามครั้งไปกับกองเรือที่ 7 โดยมีครั้งหนึ่งได้เดินทางไปยังแถบอาร์กติกช่วงที่หนาวเย็นเพื่อติดตั้งแนวเตือนภัยล่วงหน้าระยะไกล (Distant Early Warning Line: DEW Line) และเข้าร่วมการฝึกยกพลขึ้นบกบริเวณนอกชายฝั่งตะวันตกและฮาวาย

ปลดประจำการจากกองทัพเรือสหรัฐ

หลังจากรับใช้กองทัพเรือสหรัฐมาอย่างยาวนาน ผ่าน 2 ช่วงสงครามครั้งใหญ่ และการเดินทางไกลอีกหลายครั้งร่วมกับกองเรือที่ 7 เพื่อปฏิบัติการทางหทารต่าง ๆ ในการระงับยับยั้งความขัดแย้งในพื้นที่ เรือยูเอสเอส ลินคอล์นเคาน์ตี้ ได้ปลดประจำการจากกองทัพเรือสหรัฐเมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2504[1][3]

ประจำการกองทัพเรือไทย

เรือยูเอสเอส ลินคอล์นเคาน์ตี้ ถูกขายให้กับรัฐบาลไทยภายใต้ข้อตกลงในโครงการช่วยเหลือทางการทหาร (Military Assistance Program) เพื่อประจำการในกองทัพเรือไทยในชื่อ เรือหลวงช้าง (LST-2) เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2505[3] ณ เมืองลองบีช รัฐแคลิฟอร์เนีย โดยมีผู้แทนรัฐบาลไทย คือนายวิสูตร อรรถยุกติ เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงวอชิงตัน เป็นผู้รับมอบเรือ ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนหมายเลขตัวเรือเป็น 712[1]

เรือหลวงช้างเป็นอีกหนึ่งกำลังสำคัญของกองทัพเรือไทย ในการปฏิบัติการในภารกิจต่าง ๆ ที่สำคัญ เช่น ปฏิบัติการในสงครามเวียดนาม ปฏิบัติการในยุทธการบูโดในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทย สนับสนุนการปฏิบัติการของหน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธิน เป็นฐานปฏิบัติการลอยน้ำ และเป็นเรือฝึกของนักเรียนนายเรือในหลักสูตรสำคัญมากมาย จึงเปรียบได้ว่าเรือหลวงช้าง เป็นเรือครูอีกลำหนึ่งของกองทัพเรือไทย[1]

ปลดประจำการจากกองทัพเรือไทย

เรือหลวงช้างปลดประจำการเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2548 หลังจากปฏิบัติงานมากว่า 61 ปีในกองทัพเรือทั้งของสหรัฐและของไทย เนื่องจากสภาพทรุดโทรมไปตามกาลเวลา ยากที่จะซ่อมแซมให้ใช้งานได้อย่างสมบูรณ์และคุ้มค่า และได้ดำเนินการนำเรือวางลงสู่ใต้ทองทะเลบริเวณเกาะช้าง จังหวัดตราด ภายใต้โครงการ "เรือหลวงช้างรักษ์ทะเลตราดเพื่อเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา มหาราชินี ในวันที่ 12 สิงหาคม 2555" ของจังหวัดตราด ร่วมกับกองทัพเรือ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดตราด และสมาคมการประมงจังหวัดตราด เพื่อใช้เป็นแหล่งอนุบาลพันธุ์ปลาและสัตว์น้ำบริเวณเกาะช้าง โดยวางเรือหลวงช้างบริเวณกลางทะเลด้านหลังเกาะคุ้ม หรือแนวหินราบ-หินลูกบากศ์ ห่างจากเกาะช้างประมาณ 8 ไมล์ทะเล[4] ตัวเสากระโดงเรืออยู่ลึกจากผิวน้ำ 5 เมตร และตัวเรือวางอยู่ก้นทะเลที่ระยะประมาณ 35 เมตร กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวในการดำน้ำลึก (Scuba diving) ที่สำคัญอีกแห่งของเกาะช้าง[1]